วันที่ 20 เดือน กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 08:00-11:30 น
วันนี้จะนำเสนอบทความ เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย เป็นงานเดี่ยว
บทความที่นำเสนอ คือ
ความสนใจในการอ่านและการเขียนของเด็กปฐมวัย
(Reading and Writing Interest of Young Children)
ผู้เขียน: ดร. นิติธร ปิลวาสน์ ศึกษานิเทศก์
ระดับ: อนุบาล หมวด: เกี่ยวกับอนุบาล
ความสนใจในการอ่านและการเขียนของเด็กปฐมวัย (Reading
and Writing Interest of Young Children)
หมายถึง
กิริยาท่าทางหรือการกระทำที่แสดงออกถึงความสนใจ ความต้องการ
กระตือรือร้นที่จะอ่านและเขียนด้วยความเต็มใจ โดยไม่ได้ถูกบังคับหรือทำตามคำสั่ง พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสนใจในการอ่านเขียน
เช่น การหยิบหนังสือต่างๆมาเปิดดูรูปภาพ ข้อความและทำท่าอ่าน หยิบจับอุปกรณ์ดินสอ
ปากกา สี กระดาษ มาขีดเขียนหรือวาดภาพ
ขอให้ครูหรือเพื่อนช่วยเล่าเรื่องหรือเล่านิทานให้ฟัง
หรือขอให้เพื่อนช่วยวาดภาพให้ดู พูดเล่าเรื่องตามหนังสือ ป้ายสัญลักษณ์
ข้อความตามลำพัง เป็นต้น
ความสำคัญของความสนใจในการอ่านและการเขียนของเด็กปฐมวัย
เด็กวัย 2–5 ปีถือเป็นวัยทองของภาษา
พัฒนาการของพวกเขาจะเจริญงอกงามอย่างมาก ซึ่งถ้าเด็กวัยนี้ได้รับการส่ง
เสริมอย่างถูกต้องและเพียงพอ จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว
แต่มีเด็กจำนวนมากไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้จากบ้านและโรงเรียนเท่าที่ควร
ทำให้เด็กขาดประสบการณ์ทางภาษา
เด็กวัยนี้มักจะถูกมองว่ายังไม่มีความสามารถในการอ่านและการเขียน
ทั้งที่ในความเป็นจริงการเรียนรู้ของเด็กเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย
และเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องพัฒนามาพร้อมกับการเรียนรู้ภาษาพูด
ไม่จำเป็นต้องพูดได้คล่องก่อน ถึงจะมาเรียนการอ่านและการเขียน
ปัจจุบันมีโรงเรียนอนุบาลหลายแห่งที่จัดประสบการณ์แบบเตรียมความพร้อม
มักให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะการฟังและการพูดมาก
แต่ค่อนข้างละเลยเรื่องตัวอักษรและเสียง
บางแห่งไม่จัดประสบการณ์ให้เด็กได้อ่านเขียนเลย เด็กได้รับประสบ การณ์การอ่านการเขียนน้อยมาก
แต่ในทางตรงข้ามโรงเรียนบางแห่งเห็นว่า
เด็กควรเริ่มอ่านเขียนอย่างจริงจังในชั้นอนุบาล
จึงจัดประสบการณ์แบบเน้นอ่านเขียนอย่างจริงจัง ฝึกให้เด็กจดจำตัวอักษร
แจกลูกประสมคำเช่นเดียวกับการเรียนในระดับ ชั้นประถมศึกษา
เด็กจึงถูกเร่งให้เรียนอย่างจริงจัง ทั้งที่เขาไม่มีความสนใจและครูนำแบบฝึกหัดพัฒนาทักษะทางภาษามาใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า
6 ขวบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
การจัดประสบการณ์ทางภาษาแบบเร่งให้อ่านเขียนแบบผิดวิธีดังกล่าว
ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดและเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ภาษา ซึ่งแท้จริงแล้วเด็กวัยนี้ควรเรียนรู้ภาษาจากกิจกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติและพัฒนาการของเด็ก เช่น
การเคลื่อนไหว การท่องคำคล้องจอง การร้องเพลง ฯลฯ
การเรียนอ่านเขียนเกิดจากการที่เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เด็กสนใจในชีวิตประจำวัน
การตอบสนองที่ดีจากบุคคลอื่น การเสริมแรงจากผู้ใหญ่และควรเกิดจากความสนใจของเด็กเองไม่ใช่การถูกบังคับ
ซึ่งผู้ใหญ่มีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนส่ง
เสริมสร้างแรงจูงใจให้เด็กสนใจจนสามารถอ่านเขียนได้
การส่งเสริมให้เด็กเกิดความสนใจในการอ่านเขียน จึงเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะความสนใจเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะทำให้คนเรามีความตั้งใจต่อการทำกิจกรรมต่างๆ
ส่งผลให้บุคคลมีความ สามารถทำกิจกรรมนั้นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าสามารถสร้างความสนใจให้กับเด็กอย่างได้ผลแล้ว
ก็จะทำให้เด็กตั้งใจฝึกทักษะนั้นๆได้อย่างจริงจัง
ทั้งยังสามารถปฏิบัติกิจกรรมได้นาน มีความมั่นใจจนเกิดเป็นนิสัยขึ้นมา
เด็กไม่ควรถูกบังคับให้อ่านก่อนที่จะเกิดความสนใจอย่างชัดเจน
และในการเขียนเช่นเดียวกันก็ไม่ควรเริ่มสอนเขียนอย่างเป็นทางการในวัยอนุบาล
วิธีการที่จะช่วยส่งเสริมความสนใจในการอ่านและเขียนให้กับเด็กควรเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน
และเมื่อเด็กเข้าสู่โรงเรียนอนุบาลก็เป็นหน้าที่ของครู
โดยในส่วนของโรงเรียนควรจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมด้วยตนเอง
ควรเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและมีความหมายต่อเด็ก เช่น
ส่งเสริมให้เด็กได้พูดเกี่ยวกับตนเอง มีโอกาสได้ทำกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก เช่น
การหยิบจับสัมผัสวัสดุอุปกรณ์ขีดเขียน กิจกรรมการอ่านนั้นสามารถทำได้ตลอดเวลา เช่น
อ่านจากหนังสือ อ่านจากประสบการณ์การเดินทางบนท้องถนน อ่านจากป้ายโฆษณา
ป้ายบอกสัญญาณจราจร อ่านจากคำบนถุงขนมต่างๆ
ความรู้ของเด็กจะเพิ่มพูนขึ้นเมื่อเด็กได้รับโอกาสในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านร่วมกับผู้ใหญ่
และกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้อ่านตามลำพัง การอ่านกับเพื่อนเป็นคู่
เป็นกลุ่มย่อยเพื่ออภิปรายร่วมกัน
และสิ่งที่เด็กเขียนขึ้นเองนับได้ว่าเป็นการอ่านที่ดีที่สุดของเด็ก
ส่วนการเขียนเป็นการสื่อ สารแสดงความคิด ความรู้สึกออกมาอย่างมีความหมาย
ดังนั้นการเขียนและการอ่านควรดำเนินไปพร้อมๆกัน
เนื่องจากการเป็นนักเขียนที่ดีได้นั้นต้องอาศัยการอ่านที่แตกฉานในเรื่องนั้นๆ
ส่วนการฝึกฝนให้เด็กเขียนหนังสือได้นั้นครูต้องตระหนักถึงการฝึกเขียน
ที่อาศัยการลอกเลียนแบบ เน้นการฝึกกล้ามเนื้อมือเพื่อฝึกความสวยงามของลายมือนั้น
จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจากการฝึกเขียนที่ใช้ความคิด
ซึ่งเกิดขึ้นจากการฝึกคิดและถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาษาสัญลักษณ์ก็คือตัวอักษร
การฝึกอย่างเป็นธรรมชาติ ทำได้โดยให้เด็กได้ฟังมาก อ่านมากจนสามารถถ่ายทอดเองได้
และค่อยฝึกฝนความถูกต้องสวย งามภายหลัง สภาพการณ์ของการสอนอ่านเขียนให้กับเด็กอนุบาลในปัจจุบันพบว่า
ครูมักละเลยการสอนอ่านเขียน ถ้ามีการสอนอ่านเขียน
มักสอนแบบเดียวกันกับระดับประถมศึกษา ซึ่งผิดจากธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของเด็ก
การดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนครูเป็นผู้มีบทบาทเสียส่วนใหญ่ให้เด็กมีส่วนร่วมเพียงบางส่วน
การจัดกิจกรรมจะเน้นครูเป็นศูนย์กลาง ครูใช้การควบคุมมากกว่าการกระตุ้น
ทำให้เด็กมีพฤติกรรมการตอบสนองมากกว่าการริเริ่ม
การปฏิสัมพันธ์กับเด็กมีน้อยเพราะครูไม่เข้าใจวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก
ทั้งที่กิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้นั้น ควรให้เด็กมีส่วนร่วมหรือดำเนินกิจกรรมให้มากที่สุด
ครูเป็นเพียงผู้เตรียมเนื้อหาหรือประสบการณ์ให้เด็กค้นพบความรู้ด้วยตนเอง
ต้องกระตุ้นให้เด็กได้ทำกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น
จนเกิดความความสนใจในการอ่านเขียน
อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะทางภาษาในระดับสูงต่อไปพฤติกรรมความสนใจในการอ่านและการเขียน
สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกให้เห็นถึงความสนใจ
ตัวอย่างของพฤติกรรมความสนใจในการอ่าน เช่น การขอให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง
อ่านหนังสือกับผู้ใหญ่ได้นานพอเหมาะกับวัย เปิดอ่านหนังสือตามลำพัง
เปิดหนังสือและเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง เลือกและนำหนังสือมาให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง
พูดคุยแสดงความคิดเห็นต่อภาพสัญลักษณ์หรือตัวหนังสือขณะที่ผู้ใหญ่ถาม
ส่วนพฤติกรรมความสนใจในการเขียน เช่น ทำกิจกรรมที่ใช้ดินสอ
แสดงท่าทางเขียนหนังสือในการเล่นสมมติ
ทำท่าเขียนหนังสือคัดลอกคำหรือข้อความโดยครูไม่ได้สั่ง นำผลงานที่ตนเขียนให้ผู้อื่นดูอย่างภาคภูมิใจ
เขียนคำและข้อความอย่างคล่องแคล่วสนุกสนาน สนใจงานเขียนของผู้อื่น เป็นต้น
การส่งเสริมให้เด็กมีความสนใจในการอ่านและการเขียน เป็นการจัดกิจกรรมที่ตอบสนองต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ทางภาษาที่มีความหมาย ตรงกับความสนใจและความต้องการของเด็ก ซึ่งจะมีคุณค่าและประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยดังนี้
- ทำให้เด็กมีความสุข สนุกสนานกับการเรียนภาษาและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้
การส่งเสริมความสนใจในการอ่านเขียนโดยคำนึงถึงพัฒนาการและความสามารถของเด็ก จะทำให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนรู้ภาษามีความน่าสนใจ อยากเรียนรู้ เนื่องจากการเรียนรู้ที่เกิดจากการเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง ทำให้ไม่เครียดและไม่รู้สึกว่าถูกบังคับจากผู้ใหญ่
- ช่วยให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะทางภาษา
ทั้งทางด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน ครอบคลุมทุกด้านและเต็มตามศักย ภาพของเด็ก
-ทำให้ครูและผู้ปกครองเข้าใจแนวทางในการส่งเสริมและจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมความสนใจในการอ่านและการเขียนได้อย่างเหมาะสม
เนื่องจากการสร้างความสนใจในการอ่านและการเขียนให้กับเด็ก จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ภาษาที่มีความซับซ้อนต่อไป ถ้าเด็กรักและสนใจที่จะเรียนภาษาแล้ว การเรียนรู้ในขั้นต่อไปจะมีความง่ายมากขึ้น
- สนองความต้องการของผู้ปกครองส่วนมากที่มีความต้องการให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะทางภาษา โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กตามช่วงวัยที่มีความแตกต่างกัน
- ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางภาษาที่มีความกว้างขวาง
การจัดประสบการณ์ทางภาษาที่ส่งเสริมให้เด็กมีความสนใจในการอ่านและการเขียน โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ เด็กได้เลือกทำกิจกรรมอย่างหลากหลาย เช่น การเคลื่อนไหว การร้องเพลง การท่องคำคล้องจอง การทำงานศิลปะ ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางภาษาที่แตกต่างกันและมีความหลากหลาย เป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี
- เด็กจะได้เรียนรู้ในบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ทางภาษา
ทั้งที่เป็นคำ ประโยค ข้อ ความและสื่อต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาษา เช่น หนังสือนิทาน แผนภูมิเพลง ข้าวของเครื่องใช้ที่มีคำบอกให้เด็กรู้ว่าเป็นอะไร จัดเก็บอย่างไร ทั้งนี้ครูเป็นผู้จัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางภาษาโดยเสรี
- เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง
เนื่องจากการส่งเสริมความสนใจในการอ่านและการเขียนเป็นรูปแบบของการจัดกิจกรรมที่เด็กมีอิสระในการเลือกและตัดสินใจในการทำกิจกรรม ดังนั้นเด็กจึงมีบทบาทมากที่สุดในการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ ครูเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของเด็ก
- เป็นการเรียนรู้ภาษาที่เน้นพื้นฐานประสบการณ์และบริบทของเด็ก
การส่งเสริมความสนใจในการอ่านและการเขียนเป็นการเรียนรู้ภาษาจากกิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น เด็กจะได้เรียนรู้ภาษาไม่ว่าจะเป็นคำหรือประโยคจากป้ายโฆษณา ป้ายจราจร ข้อความของป้ายแสดงราคาสินค้าหรือแผ่นพับภายในห้างสรรพสินค้า โดยเด็กนำคำหรือข้อความมาอ่าน เขียนตามความสนใจซึ่งเป็นการเรียนรู้ภาษาและเน้นพื้นฐานประสบการณ์ของเด็กอย่างแท้จริง
ครูจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสนใจในการอ่านและการเขียนให้กับเด็กที่โรงเรียนอย่างไร?
การส่งเสริมความสนใจในการอ่านและการเขียนให้กับเด็กปฐมวัยต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ
3 ประการด้วยกันคือ การจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางภาษา
การจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางภาษามีความสำคัญต่อการสร้างความสนใจในการอ่านและการเขียนของเด็ก เด็กควรจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัว หนังสือ มีกิจกรรมปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู มีโอกาสเลือกทำงานที่ชอบและสนใจ ดังนั้นภายในห้องเรียนจึงจัดให้มีมุมประสบการณ์หรือศูนย์การเรียน เช่น
มุมหนังสือ จะมีชั้นวางหนังสือเหมือนในห้องสมุด เป็นสิ่งจำเป็นในการสอนภาษา เพราะเด็กจะต้องใกล้ชิดและแวดล้อมด้วยหนังสือตามหลักการซึมซาบภาษา (Immersion) เพื่อให้เด็กเรียนรู้ภาษาด้วยตนเองตามธรรมชาติ ควรมีหนังสือนิทาน วรรณกรรมสำหรับเด็กอย่างน้อยเท่ากับจำนวนเด็กและเพิ่มมุมเขียนหนังสือ มุมอ่านหนังสือ มุมห้องสมุดในห้องเรียน เด็กสามารถเข้าไปอ่านได้อย่างอิสระและสามารถยืมกลับไปอ่านต่อที่บ้านได้ โดยครูสนับ สนุนให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังที่บ้าน สำหรับหนังสือวรรณกรรมที่มุมห้องสมุดนั้น ครูจะแสวงหาเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยแลกเปลี่ยนกับห้องอื่น ถ้าโรง เรียนมีห้องสมุดกลางครูอาจนำเด็กไปเลือกดูหนังสือคู่กับบรรณารักษ์
มุมเขียนหนังสือ มีโต๊ะเก้าอี้ให้เด็กนั่งเขียน บอร์ดชานอ้อยที่ติดผนังอาจติดงานเขียนหรืองานวาดของเด็กและเป็นที่ติดประกาศต่างๆ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับตัวหนังสือ
มุมเวทีหุ่น
เพื่อให้เด็กแสดงออกทางภาษาจากการแสดง
ส่วนมุมอื่นๆ เช่น มุมวิทยาศาสตร์ มุมคณิตศาสตร์ มีป้ายบอกชื่อมุมหรือบอกอุปกรณ์ที่จัดไว้ในมุม บอกจำนวนเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับสัญลักษณ์การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความสนใจในการอ่านและการเขียน แต่ละกิจกรรมควรจะมีการใช้ภาษาและตัวหนังสือมากขึ้น เพิ่มห้องสมุด มุมอ่าน มุมเขียน เปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อและสิ่งแวดล้อมทางภาษา ทั้งทางด้านการอ่านและการเขียน
การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและให้คุ้นเคยกับตัวหนังสือ
ได้แก่ ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวัน การอ่านอาจนำหนังสือเล่มเก่ามาอ่านให้เด็กฟังถ้าเด็กขอร้อง อาจจะอ่านในช่วงกิจกรรมเสรีที่มีเด็กนั่งฟังเพียง 4–5 คนก็ได้ หนังสือที่อ่านแล้วถ้านำมาจากห้องสมุด เมื่ออ่านเสร็จแล้วควรนำกลับไปไว้ที่เดิมเพื่อเด็กจะได้ตามไปอ่าน ครูอาจสนทนาอภิปรายถึงหนังสือกับเด็ก ให้เด็กพูดออกมาตามความคิดเห็น
กิจกรรมการเล่นเสรี
มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความสนใจในการอ่านและการเขียน เพราะเด็กมีโอกาสตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะเลือกทำกิจกรรมในมุมใด ในแต่ละมุมจะมีวัสดุอุปกรณ์ที่ส่งเสริมภาษา เช่น
มุมบ้าน ครูอาจเขียนตัวหนังสือบนสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน
มุมบล็อก หาสิ่งของที่มีตัวหนังสือมาประกอบการเล่นบล็อกและสร้างเรื่องราว
มุมวิทยาศาสตร์ ครูอาจเขียนบัตรคำบอกชื่อสิ่งต่างๆไว้
มุมห้องสมุด จัดให้มีบรรยากาศสบายๆ มีมุมเขียนอยู่ใกล้ๆ
มุมคณิตศาสตร์จัดให้มีตัวเลข ตัวหนังสือที่ของเล่น เป็นต้น การเล่นเสรีของเด็กนี้ เป็นโอกาสที่ครูจะได้สังเกตเด็กและสนทนาซักถามเด็กได้ทีละคน พยายามชักชวนให้เด็กทำกิจกรรมที่หลากหลาย
การสอนเป็นหน่วยบูรณาการ
เพื่อให้ประสบการณ์ที่มีความหมายกับเด็ก เพราะได้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ เช่น การเจริญเติบโตของพืชแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการเนื้อหาในหน่วยการเรียนประกอบด้วยกิจกรรมดังนี้
การหาความรู้ เช่น การเพาะถั่ว สังเกตการเจริญเติบโต วัดการเจริญเติบโตและบันทึก แกะเมล็ดในถั่วออก มาดูและอภิปราย ศึกษาต้นไม้นอกสถานที่ ฯลฯ
ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เช่น อ่านหนังสือนิทานเรื่อง “หัวผักกาดยักษ์” แล้วเปรียบเทียบวิธีการปรุงหัวผัก กาดเป็นอาหารแบบต่างๆ ฯลฯ
ทำแล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง เช่น เด็กไปทดลองเพาะปลูกพืชที่บ้านแล้วนำมาเล่าให้ครูและเพื่อนฟังที่โรงเรียน เขียนอ่านร่วมกัน เช่น ช่วยกันทำชาร์ทว่าพืชต้องการอะไร? อ่านบทกลอนเกี่ยวกับต้นไม้ ดอกไม้
การอ่านตามลำพัง เช่น อ่านหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้ในมุมห้องสมุด
การเขียนตามลำพัง เช่น การวาดหรือเขียนเรื่องเกี่ยวกับพืช การปลูกต้นไม้
ดนตรีและจังหวะ เช่น ร้องเพลงและแสดงท่าทางเกี่ยวกับพืช
กิจกรรมศิลปะ เช่น การปั้น การวาดเกี่ยวกับพืช
กิจกรรมคณิตศาสตร์ เช่น การเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของพืช
การเล่นกลางแจ้ง เช่น การเล่นขายดอกไม้บทบาทของครูในการส่งเสริมความสนใจในการอ่านและการเขียน ครูจะคำนึงถึงการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาให้กับเด็ก โดยแนะนำให้เด็กเข้าใจการใช้ภาษาในสถานการณ์ต่างๆที่เด็กประสบในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เด็กสามารถแก้ไขข้อบกพร่อง และมีทัศนคติที่ดีต่อภาษาไทยไปพร้อมๆกัน
พ่อแม่ผู้ปกครองจัดกิจกรรมส่งเสริมความสนใจในการอ่านและการเขียนให้กับลูกที่บ้านได้อย่างไร?
การเรียนรู้ภาษาของเด็กเริ่มจากที่บ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้านภาษาที่ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก สามารถกระตุ้นและส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการเป็นไปตามวัยและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ภาษา ทั้งทางด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ทักษะการฟังและการพูดเป็นทักษะแรกเริ่มที่เด็กได้เรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก ต่อมาเมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยอนุบาล การส่งเสริมให้เด็กมีความสนใจในด้านการอ่านและการเขียน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กได้พัฒนาทักษะด้านนี้อย่างเป็นทางการในการเรียนระดับต่อไป ดังนั้นบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรปฏิบัติดังนี้้
พ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการอ่านและการเขียน
เด็กในช่วงปฐมวัยเป็นวัยแห่งการเรียนรู้จากการเลียนแบบบุคคลที่เคารพนับถือ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น อ่านหนังสือเป็นตัวอย่างแก่เด็ก ชักชวนให้เด็กอ่านหนังสือร่วมกัน พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับหนังสือที่อ่าน
จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เอื้อต่อการเรียนรู้ด้านการอ่านและการเขียน เช่น การจัดมุมหนังสือที่บ้านและจัดหาหนังสือวรรณกรรม หนังสือนิทาน หนังสือภาพให้เด็กได้เข้าไปหยิบมาอ่านตามความสนใจ และจัดให้มีดินสอ สีเทียนและกระดาษเพื่อให้เด็กได้ขีดเขียน แสดงออกทางความคิดตามจินตนาการของเด็กส่งเสริมความสนใจในการอ่านและการเขียนจากการใช้ชีวิตประจำวัน
พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถใช้สถานการณ์หรือการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็ก เพื่อส่งเสริมการอ่านและการเขียน เช่น ระหว่างการเดินทางไปโรงเรียนหรือสถานที่ต่างๆ อาจมีป้ายโฆษณา ป้ายจราจรและมีสัญลักษณ์ หรือตัวหนังสือก็สามารถชี้ชวนให้เด็กได้อ่านคำหรือข้อความต่างๆเหล่านั้น หรือการพาเด็กไปเที่ยวสวนสัตว์ ห้างสรรพสินค้าก็สามารถให้เด็กเรียนรู้การอ่านจากข้อความที่เป็นป้ายแสดงสินค้าหรือชื่อกำกับสินค้านั้นๆได้ การส่งเสริมความสนใจในการอ่านและการเขียนของพ่อแม่ผู้ปกครองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากทางโรงเรียนจะส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาให้กับเด็กแล้ว การที่ทางบ้านช่วยขยายการเรียนรู้ให้กับเด็ก ก็มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาของเด็กด้วย
อ้างอิง http://taamkru.com/th/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2/
ภาพนำเสนอบทความและบรรยากาศในห้องเรียน
นำเสนอบทความ
บรรยากาศในห้องเรียน
ความรู้ที่ได้
บทความของเเต่ละคนมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมอง สุขภาพ การเล่น การนอน เป็นต้น
ประเมินตนเอง
บทบาทในการฟังบทความของเพื่อนได้ดีและการออกไปนำเสนอบทความของตนเองได้ดีระดับหนึ่ง
ประเมินอาจารย์
อาจารย์อธิบายเนื้อหาเกี่ยวกับบทความของแต่ละคนได้ดีและชัดเจน
ประเมินเพื่อนร่วมห้อง
เพื่อนทุกคนตั้งใจนำเสนอบทความของตนเองได้ดีแต่ก็มีส่วนหนึ่งที่คุยกันตลอดเวลา
บรรยากาศในห้องเรียน
สนุกสนาน มีการโต้ตอบในเรื่องต่างๆได้ดี ไม่เครียด
สนุกสนาน มีการโต้ตอบในเรื่องต่างๆได้ดี ไม่เครียด